กิจกรรมบริษัท

ด้วยรักและอาลัย แด่ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย

ผู้นำผู้เปี่ยมวิสัยทัศน์ และเป็นแรงบันดาลใจแก่เราทุกคน

ความสูญเสียครั้งใหญ่ของชาวดุสิตเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่3 พฤษภาคม 2563 เมื่อท่านผุ้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ท่านผู้ก่อตั้งเครือดุสิตได้ถึงแก่อนิจกรรมไปอย่างสงบ ด้วยวัย 99 ปี

ในโอกาสนี้ เดอะ ล็อบบี้และพนักงานดุสิตขอแสดงความเสียใจกับคุณชนินท์ คุณสินี และครอบครัว ต่อการจากไปของท่านผู้หญิงผู้ที่เป็นที่รักยิ่ง และถึงแม้ว่าการสูญเสียในครั้งนี้เป็นเรื่องที่น่าเศร้า แต่สมาชิกในครอบครัวของท่านและชาวดุสิตก็ยังมีความทรงจำดีๆ ถึงท่านผู้หญิงชนัตถ์ที่ได้ใช้ชีวิตอย่างงดงาม มีคุณค่าและความหมาย ด้วยจิตใจที่เปี่ยมล้นด้วยความรักความเมตตา และความเอาใจใส่ของท่าน บวกกับวิสัยทัศน์ที่ไม่เหมือนใครที่หลอมรวมเป็นรากฐานของดุสิตมาจนถึงปัจจุบัน

ท่านผู้หญิงชนัตถ์เป็นที่รู้จักและจดจำในฐานะนักธุรกิจหญิงที่ประสบความสำเร็จและน่าเคารพมากที่สุดคนหนึ่งของไทย ท่านคือผู้บุกเบิกการก่อร่างสร้างตัวและการพัฒนาของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ เรียกว่าท่านเปรียบเสมือนแม่ของทุกคนในวงการนี้ก็ไม่ผิดนัก

ด้วยบุคลิกที่โดดเด่นมีความแข็งแกร่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมไทยไม่เคยเห็นมาก่อน ทำให้สื่อมวลชนในตอนนั้นตั้งฉายาให้กับท่านผู้หญิงว่า "ผีเสื้อเหล็ก" ซึ่งความแข็งแกร่งและมุ่งมั่นของท่านนั้นเป็นที่ประจักษ์ได้ชัดเจนจากการที่ท่านผู้หญิงได้เริ่มสร้างบริษัทขึ้นมาด้วยตัวเองในปี พ.ศ. 2491 และเปิดโรงแรมแห่งแรกในชื่อโรงแรมปริ้นเซส ในปีถัดมา หลังจากนั้นก็มาสร้างโรงแรมห้าดาวที่เรารู้จักกันในชื่อโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ เมื่อ พ.ศ. 2513 ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมหาศาล ทำให้การบริการแบบไทยที่ได้มาตรฐานสากลเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ซึ่งตลอดชีวิตของท่านนั้น ท่านผู้หญิงชนัตถ์ทำทุกอย่างด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างแรงกล้าและมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้อื่นมีชีวิตที่ดีขึ้นโดยไม่หวั่นต่ออุปสรรคใดๆ

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่ท่านผู้หญิงกำลังเริ่มต้นสร้างธุรกิจ ในสมัยนั้นโลกของธุรกิจเป็นโลกของผู้ชาย นักธุรกิจหญิงมีแทบจะนับคนได้ และก็ไม่มีผู้หญิงคนไหนในประเทศสร้างโรงแรมมาก่อน ท่านผู้หญิงชนัตถ์คือคนแรก

เหตุผลหลักในการสร้างโรงแรมของท่านผู้หญิงชนัตถ์ เกิดจากความประทับใจที่ท่านมีต่อโรงแรมที่ได้ไปเยือนเมื่อครั้งที่ท่านไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และความเชื่อที่ว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะก้าวไปเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่งในโลก ซึ่งท่านก็ได้เล็งเห็นว่าวิธีที่ดีสุดในการกระตุ้นการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้เติบโต ประเทศไทยจำเป็นต้องมีโรงแรมที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องแตกต่างจากที่อื่นๆ ด้วยการบริการที่มีเสน่ห์แบบไทยเป็นจุดขาย และท่านก็ได้เดินหน้าสร้างโรงแรมตามแนวคิดที่ว่านี้ด้วยความกระตือรือร้น แรงผลักดันและทัศนคติที่ว่าไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้จนสำเร็จในที่สุด ซึ่งสิ่งที่ท่านผู้หญิงได้สร้างขึ้นมานี้ได้เปลี่ยนโฉมหน้าของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยไปตลอดกาล และส่งให้ประเทศไทยก้าวขึ้นมาในฐานะแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำ

ท่านผู้หญิงมีปรัชญาประจำใจที่นำใช้ในการดำเนินชีวิตก็คือให้มีความกล้าที่จะลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีใครเคยทำมาก่อน และต้องดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อตรงเพื่อให้เกียรติผู้ที่ทำธุรกิจด้วย โดยปรัชญาเหล่านี้สะท้อนให้เห็นในการทำธุรกิจของท่านที่ไม่ได้เน้นเรื่องเงินเป็นเรื่องสำคัญที่สุด สิ่งที่ท่านผู้หญิงชนัตถ์ให้ความสำคัญอยู่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือเรื่องคนและการตอบแทนสังคม ไม่ว่าดุสิตจะไปเปิดโรงแรมที่ไหนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ท่านผู้หญิงชนัตถ์ก็จะหาทางช่วยโปรโมทส่งเสริมการท่องเที่ยวของท้องถิ่นนั้นให้พัฒนาเติบโตขึ้นมาด้วยการกระตุ้นให้ภาครัฐหรือองค์การบริการส่วนท้องถิ่นปรับปรุงหรือสร้างสาธารณูปโภคหลักให้พร้อมสำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยว อีกเรื่องที่ท่านผู้หญิงให้ความสำคัญก็คือการให้ดุสิตร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของสมาชิกในชุมชนและช่วยเหลือสังคมที่อยู่ร่วมกันให้ดีขึ้นไม่ว่าจะอยู่แห่งไหนในโลก

ท่านผู้หญิงชนัตถ์ยังมองการณ์ไกลไปถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนและได้ขยายธุรกิจเข้าสุ่ธุรกิจด้านการศึกษาด้วยการเปิดตัวโรงเรียนการโรงแรมดุสิตธานีขึ้นในปี พ.ศ. 2536โดยท่านได้กล่าวไว้ว่า "ถ้าหากจะทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำระดับโลกในธุรกิจการโรงแรมและการบริการ เราจะต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดกับการศึกษาและการฝึกอบรมบุคคลากรในด้านนี้" และด้วยเหตุนี้ ดุสิตจึงกลายเป็นบริษัทของคนไทยบริษัทแรกที่เปิดโรงเรียนการโรงแรมเพื่อการพัฒนาของอุตสาหกรรมโดยรวม

ด้วยความอุทิศตนในการพัฒนาการท่องเที่ยวและการศึกษาของไทย ท่านผู้หญิงชนัตถ์จึงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ จากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น "ท่านผู้หญิง" เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2543

คุณความดีของท่านผู้หญิงยังได้รับการยกย่องจากต่างประเทศ ด้วยรางวัล SHTM Lifetime Achievement Award จากSchool of Hotel and Tourism Management (SHTM) สถาบันการศึกษาด้านการท่องเที่ยวและการบริหารโรงแรมในสังกัดมหาวิทยาลัยHong Kong Polytechnicซึ่งรางวัลนี้มอบให้กับบุคลากรที่มีผลงานโดดเด่นในด้านการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริหารจัดการโรงแรมอย่างยั่งยืนจากทั่วโลก

แม้ตอนนี้ท่านผู้หญิงจะได้จากเราไปแล้ว แต่จิตวิญญาณของท่านที่เปี่ยมด้วยความใส่ใจ แนวคิดการทำธุรกิจแบบองค์รวม และวิสัยทัศน์อันโดดเด่นในการนำการบริการแบบไทยไปสร้างชื่อให้ชาวโลกได้รู้จักจะยังคงเป็นหัวใจสำคัญสำหรับพวกเราทุกคนที่ดุสิต และเป็นแรงบันดาลใจให้เรามุ่งมั่นพยายามทำให้ดีขึ้นกว่าเดิมในทุกวัน

ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย มอบแรงบันดาลใจให้พวกเราทุกคน และเราจะนำแรงบันดาลใจนี้ไปต่อยอดเพื่อสืบสานในสิ่งยิ่งใหญ่ที่ท่านได้สร้างขึ้นต่อไป

ไทม์ไลน์และความสำเร็จในชีวิตของท่านผู้หญิงชนัตถ์
2464
ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ถือกำเนิด
-
2491
ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ก่อตั้งบริษัทและเริ่มต้นสร้างโรงแรมแห่งแรก
-
2492
ท่านผู้หญิงชนัตถ์ เปิดตัวโรงแรมแห่งแรกชื่อโรงแรมปริ้นเซส ซึ่งเป็นโรงแรมที่ทันสมัยที่สุดในกรุงเทพฯ ที่มีสระว่ายน้ำ ท่านผู้หญิงใช้โรงแรมแห่งนี้ทดลองแนวคิดของท่านที่นำความเป็นไทยไปผสานอยู่ในโรงแรมระดับหรู ในงานเปิดตัวโรงแรมอย่างเป็นทางการได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จทรงมาเป็นประธานในพิธีเปิดและงานเลี้ยงฉลอง
-
2513
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 โดยเสด็จพร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระเมตตาเสด็จเป็นองค์ประธานเปิดโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ซึ่งเป็นโรงแรมภายใต้ชื่อดุสิตธานีเป็นแห่งแรก และกลายเป็นโรงแรมที่สูงที่สุด ดีที่สุด และเป็นสัญลักษณ์ของกรุงเทพฯ และประเทศไทยในเวลานั้น
-
2515
ท่านผู้หญิงชนัตถ์ นำดุสิตธานี เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล กลายเป็นบริษัทแรกๆ ของประเทศไทยที่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์
-
2530 - 2533
ดุสิตฯ ขยายตัวไปทำรีสอร์ท ด้วยการเปิด ดุสิต ลากูนา รีสอร์ท (ปัจจุบันคือ ดุสิตธานี ลากูนา ภูเก็ต) ซึ่งเป็นรีสอร์ทแห่งแรกในประเทศไทยที่บริหารโดยคนไทยใน พ. ศ. 2530 ถัดมาเป็นดุสิตธานี พัทยา ในปี 2531 รอยัล ปริ้นเซส หลานหลวง ในปี 2532 และดุสิตธานี หัวหิน ในปี 2533
-
2536
ท่านผู้หญิง ชนัตถ์ ปิยะอุย ตัดสินใจเปิดโรงเรียนการโรงแรมดุสิตธานี ในกรุงเทพ เพื่อสร้างบุคลากรคุณภาพให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการโรงแรมของประเทศไทย ซึ่งต่อมา โรงเรียนได้เปลี่ยนชื่อเป็น วิทยาลัยดุสิตธานี ในปี 2549และกลายเป็นสถาบันด้านการโรงแรมแห่งแรกที่ได้รับการยอมรับจากกระทรวงการศึกษาของประเทศไทย
-
2538
เปิดตัวแบรนด์ดุสิต ปริ๊นเซส ซึ่งเป็นโรงแรมระดับ upper midscale เป็นครั้งแรก ด้วยการเปิดโรงแรม รอยัล ปริ๊นเซส เชียงใหม่ (ปัจจุบันคือ ดุสิต ปริ๊นเซส เชียงใหม่) และดุสิต ไอส์แลนด์ รีสอร์ท เชียงราย
-
2540
เปิดโรงแรม ดุสิต ปริ๊นเซส ศรีนครินทร์ กรุงเทพ นอกจากนี้ กลุ่มดุสิตเริ่มขยายงานไปยังต่างประเทศ ด้วยการเข้าซื้อกิจการโรงแรม นิกโก้ มะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อมาปรับปรุงใหม่เป็น โรงแรมดุสิตธานี มะลา
-
2543
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษแก่ท่านผู้หญิงชนัตถ์ อันเนื่องมาจากการอุทิศตนในการพัฒนาการท่องเที่ยวและการศึกษาของไทย ท่านผู้หญิงชนัตถ์ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น "ท่านผู้หญิง" เมื่อวันที่ 5พฤษภาคม 2543
-
2544
ดุสิตธานีปักธงในตะวันออกกลาง ด้วยการเปิดโรงแรมดุสิตธานี ดูไบ รวมถึงมีการเปิดเทวารัณย์สปาในกรุงเทพ ซึ่งเป็นการเข้าสู่ตลาดสปาหรูระดับบนเป็นครั้งแรก
-
2549
เปิดตัวแบรนด์ ดุสิตดีทู ซึ่งเป็นแบรนด์ร่วมสมัยระดับหรู ด้วยการเปิดโรงแรมดุสิตดีทู เชียงใหม่ เป็นโรงแรมแรก
-
2550
เปิดตัวแบรนด์ ดุสิต เดวาราณา เจาะกลุ่มตลาดหรูระดับบน ที่ต้องการความเป็นส่วนตัว พร้อมกับจับมือเป็นพันธมิตรกับ เลอ กอร์ดอง เบลอ เพื่อเปิดโรงเรียนสอนการประกอบอาหารในกรุงเทพฯ
-
2552
วิทยาลัยดุสิตธานีจับมือเป็นพันธมิตรร่วมกับ มหาวิทยาลัย ไลเซียม ของฟิลิปปินส์ เพื่อจัดสร้างหลักสูตรการโรงแรม
-
2553
เปิดโรงแรมดุสิตธานี เลควิว ไคโรในประเทศอียิปต์