สารจากประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม


ปี 2566 เป็นปีที่อุตสาหกรรมการเดินทางท่องเที่ยวและบริการกลับมาฟื้นตัวในทิศทางที่ดีมาก แต่ยังคงมีหลายปัจจัยที่เราควรต้องจับตาและให้ความระมัดระวัง

ในปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการเดินทางท่องเที่ยวและบริการมีการฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังไม่เท่าเทียมกันในแต่ละ ภูมิภาค โดยภูมิภาคที่การฟื้นตัวอย่างโดดเด่น ได้แก่ ภูมิภาคตะวันออกกลาง ยุโรป และแอฟริกา ในขณะที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกลับมีการฟื้นตัวที่ช้าที่สุด นอกจากนี้ การชะลอตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนซึ่งเป็นตลาดสำคัญของประเทศไทย ยังกลายมาเป็นบททดสอบความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ของบ้านเราได้เป็นอย่างดี เนื่องจากแนวโน้มการฟื้นตัว เป็นผลมาจากพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป การขับเคลื่อนของประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์ และความผันผวนทางเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีผลทำให้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งผู้ประกอบการจำต้องการมีความคล่องแคล่ว และการมองสถานการณ์ระยะยาวให้ออก

แม้ว่าจะต้องเผชิญกับอุปสรรคเหล่านี้ แต่กลุ่มดุสิตฯ ก็สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่มีปัจจัยความซับซ้อนเช่นนี้ได้ดีพอควร โดยบริษัทฯ สามารถปรับตัวเข้าหาตลาดต้นทางใหม่ๆ เช่น มาเลเซีย อินเดีย และเกาหลีใต้ และรับมือกับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นของการเข้าพักระยะสั้นและการมองหาประสบการณ์ในการเข้าพักได้ดีพอควร ซึ่งเป็นผลมาจากการมีโรงแรมในหลากหลายภูมิภาค และช่วยลดความเสี่ยงจากการทำตลาดเพียงแต่ตลาด เดียวให้น้อยที่สุด

ในปี 2566 ที่ผ่านมา กลุ่มดุสิตฯ ยังคงสามารถดำเนินตามกรอบแผนการดำเนินงานที่วางไว้ได้ โดยบริษัทฯ สามารถเปิดตัวโรงแรมใหม่ทั้งหมด 10 แห่ง ประกอบด้วย การเปิดโรงแรมในจุดหมายปลายทางใหม่ๆ เช่น ประเทศกรีซ ประเทศเนปาล และประเทศญี่ปุ่น การกลับไปปักธงใหม่อีกครั้งในประเทศเคนยา และการขยายโรงแรมในจุดหมายเดิมอย่างต่อเนื่อง เช่น ในประเทศไทยและจีน ซึ่งความสำเร็จนี้ไม่เพียงแต่สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวในระดับโลก แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเราในการเดินหน้าสำรวจและลงทุนในตลาดเกิดใหม่และตลาดที่พัฒนาแล้ว เพื่อมอบประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมให้กับลูกค้า และเพื่อสร้างสมดุล ระหว่างรายได้ในประเทศและต่างประเทศตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้

ในรอบปีที่ผ่านมา สิ่งที่สะท้อนความมุ่งมั่นในการดำเนินการเพื่อความยั่งยืนของกลุ่มดุสิต คือ การจัดตั้งโครงการ Tree of Life ซึ่งประกอบไปด้วยหลักเกณฑ์ในการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืน 31 ข้อ ซึ่งถูกจัดทำขึ้นให้สอดคล้องกับเป้าหมายความยั่งยืนในระดับโลกขององค์การสหประชาชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยวางกรอบการทำงานให้กับโรงแรมในเครือของดุสิตธานี ซึ่งนอกเหนือจากจะให้ความสำคัญกับ การลดปริมาณก๊าซ เรือนกระจกที่ปล่อยออกมาแล้ว ยังเน้นที่การดูแลชุมชนท้องถิ่น การสรรหาอย่างมีความรับผิดชอบ และการเพิ่มศักยภาพให้กับบุคลากรของเราในทุกโอกาส อันจะสอดรับไปในทิศทางเดียวกับเสาหลักความยั่งยืนใน 3 มิติ อันประกอบด้วย สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล

ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังมีการพัฒนาและขยายแบรนด์ในกลุ่มดุสิตให้ครอบคลุมกับความต้องการของนักเดินทางมากขึ้นด้วย การเปิดตัว Dusit Collection และปรับภาพลักษณ์แบรนด์ Devarana - Dusit Retreats ซึ่งเป็น 2 แบรนด์ที่เราตั้งใจจัดทำขึ้น เพื่อจับกลุ่มตลาดนักเดินทางที่ชอบความหรูหรา สร้างความดึงดูดใจ และเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับแบรนด์ โดยในขณะนี้เรากำลังมองหาสถานที่ต่างๆ ที่มีคุณสมบัติตรงกับลักษณะของแบรนด์ใหม่ทั้งสองแห่ง ไม่ว่าจะเป็น พระราชวังเก่า ในเมืองประวัติศาสตร์ ไปจนถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าริมทะเล ซึ่งคาดว่า น่าจะประกาศผลให้ทราบได้อย่างเป็นทางการในช่วงต้นปี 2567

ในปี 2567 ที่จะถึงนี้ ยังเป็นปีที่บริษัทฯ จะเฉลิมฉลองการดำเนินธุรกิจโรงแรมมาแล้วครบ 75 ปี นับตั้งแต่เรามีโรงแรมแห่งแรก ซึ่งเป็นปีที่เต็มไปด้วยโอกาสมากมายในทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการเดินหน้าเร่งขยายธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต และ วิลล่าหรู อย่างต่อเนื่องแล้ว เรายังจะหาช่องทางและโอกาสในการสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจอื่นๆ อีกด้วย

โดยในส่วนของกลุ่มธุรกิจอาหาร จะเติบโตขึ้นจากการขยายธุรกิจรับจัดเลี้ยงอาหารในโรงเรียนนานาชาติ และยังมีการร่วมลงทุนใน บริษัท Savor Eats เพื่อดำเนินธุรกิจอาหารพร้อมรับประทาน ในขณะที่กลุ่มธุรกิจการศึกษา ซึ่งประกอบไปด้วยวิทยาลัยดุสิตธานี โรงเรียนสอนทำอาหารเลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต และโรงเรียน สอนทำอาหาร เดอะ ฟู้ด สคูล ก็เร่งพัฒนาหลักสูตรระยะสั้นขึ้นมา เพื่อบ่มเพาะผู้ประกอบการโรงแรมและผู้ประกอบการร้านอาหาร

ในส่วนของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ก็มองเห็นโอกาสในการเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์แบบผสมระหว่างโรงแรมและที่พักอาศัย และการเติบโตของบริการด้านเวลเนสเพื่อสุขภาพ ซึ่งเราได้จัดทำคอนเซ็ปต์ใหม่ๆ ที่คาดว่า จะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากตลาดในอนาคตข้างหน้านี้

นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับกลุ่มดุสิตธานีในปี 2567 คือ การกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ เจ้าของตำนานหมุดหมายของกรุงเทพฯ ซึ่งจะมอบประสบการณ์ในการเข้าพักที่ยอดเยี่ยม และตอบโจทย์การท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งไม่เพียงแต่จะสร้างนิยามใหม่ของมาตรฐานในการให้บริการต้อนรับอันหรูหราเท่านั้น แต่ยังช่วยตอกย้ำความแข็งแกร่งของกลุ่มดุสิตธานีในฐานะผู้นำด้านภูมิทัศน์การท่องเที่ยวอีกด้วย โดยโรงแรมเรือธงแห่งนี้จะเป็นต้นแบบให้กับโรงแรมและรีสอร์ตจากดุสิตทั่วโลก

จากมุมมองที่เป็นบวกต่อการฟื้นตัว ผนวกกับเป้าหมายที่ชัดเจนของบริษัทฯ ในปี 2567 นี้ เราพร้อมแล้วที่จะเดินหน้าตามแผนที่วางไว้ ในนามของคณะผู้บริหารทั้งหมดของกลุ่มดุสิตธานี ดิฉันขอขอบคุณนักลงทุนทุกท่านที่ให้ความไว้วางใจ พันธมิตรที่เดินเคียงข้างเราด้วยความมั่นใจ พนักงานของเราที่ทำให้วิสัยทัศน์กลายเป็นความจริง รวมถึงแขกผู้มีเกียรติ ลูกค้า และนักเรียนที่ทำให้เราเติบโตและเป็นแรงบันดาลใจให้เราปรับปรุงผลิตภัณฑ์และบริการของเราต่อไป

ขอแสดงความนับถือ

ศุภจี สุธรรมพันธุ์

ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม