เรื่อง ชี้แจงผลประกอบการ ปี 2567

เรียน ท่านผู้ถือหุ้นบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน)

บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) ขอสรุปประเด็นที่กรรมการได้ชี้แจงตอบคำถามแก่ท่าน ผู้ถือหุ้นในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 32/2568 อีกครั้ง เพื่อให้ท่านได้พิจารณาประเด็นต่าง ๆ อย่างรอบด้าน ซึ่งบริษัทฯ เชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า ข้อชี้แจงที่บริษัทฯ จะได้สรุปต่อไปนี้จะสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ถือหุ้นต่อสถานะทางการเงินและความมั่นคงในการประกอบธุรกิจของบริษัทฯ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ภาพรวมธุรกิจของกลุ่มดุสิตธานี อาจจะดูคล้ายกับบริษัทจดทะเบียนอื่นที่อยู่ในหมวดท่องเที่ยว แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว ธุรกิจของบริษัทฯ มีความแตกต่างจากผู้ประกอบการรายอื่นในหลายส่วน ตั้งแต่เจตจำนงในการดำเนินงาน หมวดหมู่ของธุรกิจหลัก รวมถึงขนาดของกิจการ

ตลอดระยะเวลา 76 ปี นับตั้งแต่ท่านผู้ก่อตั้งดุสิตธานี ได้เริ่มธุรกิจโรงแรมมา ธุรกิจส่วนใหญ่ของ บริษัทฯ อยู่ในหมวดธุรกิจโรงแรม และโรงเรียนการโรงแรม รวมถึงกิจการส่วนใหญ่ยังค่อนข้างจำกัดอยู่ในประเทศไทย ส่งผลให้เมื่อใดที่เกิดเหตุการณ์ความไม่แน่นอนต่าง ๆ ในประเทศไทย หรือเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจท่องเที่ยว จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลการดำเนินการของบริษัทฯ ซึ่งมีความเสี่ยงที่ทำให้กิจการหยุดนิ่ง และไม่สามารถเติบโตได้

ดังนั้น คณะกรรมการบริษัทฯ จึงได้อนุมัติแผนการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยง และสร้างการเติบโตให้กับบริษัทฯ มาโดยตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยนับตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน บริษัทฯ มีการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน โดยสามารถขยายกิจการจาก 2 ธุรกิจหลักเป็น 4 ธุรกิจหลัก สามารถขยายกิจการจาก 8 ประเทศ สู่ 19 ประเทศ สามารถสร้างและยกระดับมูลค่าแบรนด์จาก 4 แบรนด์ เป็น 10 แบรนด์ รวมถึงสามารถสร้างชื่อเสียงของบริษัทฯ ให้เป็นตัวแทนโรงแรมไทยที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง

ทั้งนี้ ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา แม้ว่า บริษัทฯ จะต้องเผชิญกับมรสุมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทั่วโลกต่อเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจท่องเที่ยวและการเดินทางหยุดชะงักเป็นเวลาถึง 3 ปี จนกระทั่งทยอยฟื้นตัว และกลับมาอยู่ในสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิดในปีที่ผ่านมา แต่บริษัทฯ ยังคงสามารถประคับประคองตัว และเดินหน้าขยายกิจการได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหมายรวมถึง การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ซึ่งมีมูลค่าโครงการมากกว่า 46,000 ล้านบาท โดยที่บริษัทฯ ไม่เคยขอรบกวนท่านผู้ถือหุ้นด้วยการเพิ่มทุนแต่อย่างใดเพราะจะส่งผลกระทบต่อสัดส่วนการถือหุ้นเดิม (share dilution) อย่างมีนัยสำคัญ แต่บริษัทฯ พยายามที่จะช่วยเหลือตนเอง ด้วยการหาแหล่งเงินทุนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การออกหุ้นกู้ การขอสินเชื่อ เพื่อนำมาบริหารจัดการกิจการ และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับบริษัทฯ ซึ่งปรากฏหลักฐานที่ชัดเจน คือ นับตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่บริษัทฯ เริ่มกระจายการลงทุน จนถึงปัจจุบัน บริษัทฯ ยังคงมีทุนจดทะเบียนคงเดิมอยู่ที่ 850 ล้านบาทไม่เปลี่ยนแปลง ในขณะที่ขนาดของกิจการ และส่วนของผู้ถือหุ้นในปี 2567 สามารถเติบโตกว่า 3,770 ล้านบาทเมื่อเทียบกับปีก่อน

การขาดทุนสะสมของบริษัทฯ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยรวมแล้วเป็นผลมาจากการนำบริษัทฯ ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และยังยืดเยื้อยาวนานถึง 3 ปี รวมถึงการลงทุน เพื่อกระจายความเสี่ยงและขยายกิจการ เพื่อความมั่นคงของบริษัทฯ ในอนาคตตามกลยุทธ์ของบริษัทฯ ที่ได้เคยนำเสนอกับที่ประชุมผู้ถือหุ้นและรายงานความคืบหน้ามาเป็นระยะด้วยแล้ว เช่น โครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ที่เป็นโครงการสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินงานของบริษัทฯ จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น ผลขาดทุนในปี 2567 ของบริษัทฯ มีสาเหตุหลักมาจากดอกเบี้ยจ่ายของหุ้นกู้ที่บริษัทฯ ออกและเสนอขายเพื่อรองรับสภาพคล่องทางการเงินในช่วงโควิด-19 และดอกเบี้ยเงินกู้ยืม (ประมาณ 281 ล้านบาท) และดอกเบี้ยของหนี้สินจากสัญญาเช่าตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 16 (TFRS 16) (ประมาณ 297 ล้านบาท) รวมเป็นต้นทุนทางการเงินทั้งสิ้นประมาณ 578 ล้านบาท จึงเห็นได้ว่า การที่บริษัทมีภาระดอกเบี้ยสูงเนื่องจากบริษัทฯ ไม่ต้องการรบกวนผู้ถือหุ้นโดยการเพิ่มทุนจึงเป็นสาเหตุหลักในการขาดทุน ทั้งนี้ หากไม่รวมต้นทุนทางการเงินนี้ บริษัทจะมีกำไรจากการดำเนินงาน ดังจะเห็นได้จากการที่บริษัทฯ มีกำไรจากการดำเนินงาน และ EBITDA ของบริษัทฯ ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับประเด็นของการลงทุนใน 4 โครงการ ได้แก่ โรงแรมอาศัย กรุงเทพ ไชน่าทาวน์ โรงแรมอาศัย กรุงเทพ สาธร โรงแรมดุสิตสวีท ราชดำริ และโรงเรียนสอนประกอบการทำอาหาร เดอะ ฟู้ด สคูล ที่มีผู้ถือหุ้นสอบถามเข้ามานั้น บริษัทฯ ขอเรียนว่า การลงทุนดังกล่าว เป็นการลงทุนที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนโควิด-19 เพื่อตอบโจทย์เทรนด์ของการท่องเที่ยวในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงดึงดูดลูกค้ากลุ่มใหม่ ซึ่งโครงการได้แล้วเสร็จในช่วงโควิด-19 ซึ่งเป็นช่วงของวิกฤติการท่องเที่ยวและการประกอบกิจการของทุก ๆ ภาคส่วนอันเป็นสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดเห็นและไม่อาจควบคุมได้ โดยบริษัทฯ ขอเรียนเพิ่มเติมว่า 2 ใน 4 โครงการดังกล่าว (ได้แก่ โครงการโรงแรมอาศัย ไชน่าทาวน์ และโครงการโรงแรมดุสิตสวีท ราชดำริ) เป็นโครงการที่ได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นซึ่งได้รับการนำเสนอจากที่ปรึกษาอิสระ (Independent Financial Advisor) และที่ปรึกษาทางกฎหมาย (Legal Advisor) มิได้เป็นการอนุมัติจากคณะกรรมการเพียงฝ่ายเดียวตามที่มีผู้ตั้งคำถามถึงดุลยพินิจของคณะกรรมการในการตัดสินใจเข้าลงทุน ถึงกระนั้นก็ตาม บริษัทฯ ขอขอบพระคุณสำหรับคำถามดังกล่าวที่ทำให้บริษัทฯ ได้มีโอกาสตอบข้อสอบถามในระหว่างการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 32/2568 เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2568 โดยบริษัทฯ ขอเรียนสรุปรายละเอียดและความคืบหน้าของแต่ละโครงการดังนี้

  • โรงแรมอาศัยไชน่าทาวน์และอาศัยสาทร เป็นการลงทุนเพื่อทำให้บริษัทฯ สามารถเจาะตลาดกลุ่มใหม่ คือ Gen Z and Millennials Segment ที่มีการเติบโตสูงและเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด โดยอาศัย ไชน่าทาวน์ ที่เป็นการลงทุนและเปิดในช่วงโควิด ได้เคยติดอันดับ 1 ใน Tripadvisor ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีโรงแรมอื่นใดในกลุ่มดุสิตฯ ได้รับมาก่อน อันเป็นการตอกย้ำว่าบริษัทฯ ได้ปรับตัวและตอบโจทย์ทิศทางตลาดแนวใหม่ได้เป็นอย่างดี ในขณะที่อาศัย สาทร เป็นการลงทุนเพื่อสร้างโรงแรมต้นแบบ ทั้งในส่วนของขนาดห้อง รูปแบบการให้บริการของแบรนด์ ฯลฯ เพื่อที่ลูกค้า (hotel owner) จะได้เข้าใจในมาตรฐานและรายละเอียดของแบรนด์ ในลักษณะที่เป็นรูปธรรมอันจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการสร้างความไว้วางใจให้บริษัทฯ ไปบริหารโรงแรมในแบรนด์ อาศัย เพื่อเป็นการเปิดโอกาสต่อยอดแบรนด์ อาศัย ให้ขยายต่อไปในพื้นที่ (Location) อื่น ๆ อย่างมีมาตรฐานที่ชัดเจน นอกจากนี้ ในอนาคตข้างหน้า บริษัทฯ คาดว่า จะมีรายได้จากการรับจ้างบริหารโรงแรมภายใต้แบรนด์ อาศัย อีกมาก โดยปัจจุบัน บริษัทฯ มีสัญญาที่ลงนามเพื่อบริหารแบรนด์โรงแรมนี้อีก 8 แห่ง
  • ปัจจุบัน ทั้งสองโรงแรมมีผลประกอบการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จนบริษัทฯ สามารถนำโรงแรมทั้งสองแห่งนี้เข้าไปนำเสนอนักลงทุนในการทำ DREIT Buy Back ได้สำเร็จ เพื่อนำเงินที่ได้ไปชำระคืนเงินกู้ และลดภาระดอกเบี้ย
  • โรงแรมดุสิต สวีท ราชดำริ หลังภาวะโควิด โรงแรมก็มีการพัฒนาดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีผลประกอบการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเช่นกัน ปัจจุบันบริษัทฯ ได้ใช้โรงแรมนี้ทำโครงการนำร่องเพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่ให้ความสนใจเรื่องสุขภาพ และ Wellness ซึ่งเป็นอีกเทรนด์หนึ่งที่กำลังมีการเจริญเติบโต โดยทางโรงแรมได้มีความร่วมมือกับโรงพยาบาลและคลินิกที่เป็นพันธมิตรในการจัดทำแพคเกจห้องพักระยะยาว และพร้อมบริการด้าน Wellness อีกด้วย
  • โรงเรียนสอนทำอาหาร เดอะ ฟู้ด สคูล (TFS) เป็นการลงทุนใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 โดยปกติแล้ว ธุรกิจโรงเรียนจะต้องใช้เวลาประมาณ 4-5 ปี หรือกว่านั้นจึงจะคุ้มทุน ดังนั้น สำหรับ TFS นั้น จึงถือได้ว่ายังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ปัจจุบันได้ดำเนินงานเข้าสู่ปีที่ 2 ซึ่งในปี 2567 ที่ผ่านมาทาง TFS มีจำนวนนักเรียนหลักสูตรระยะสั้น 1,401 คน และหลักสูตรระยะยาว 181 คน ซึ่งถือว่า อยู่ในเกณฑ์ดีเมื่อเทียบกับโรงเรียนอื่น ๆ ที่เปิดมาก่อนหน้านี้ไม่ว่าจะเป็น เลอ กอร์ ดองเบลอ ดุสิต หรือวิทยาลัยดุสิตธานี และกำลังค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ

สำหรับแนวทางแก้ไขผลการดำเนินงานในภาพรวมนั้น คณะกรรมการและฝ่ายจัดการมีความพยายามอย่างเต็มที่ในการบริหารจัดการเพื่อให้ธุรกิจเติบโตไปตามแผนกลยุทธ์ที่วางไว้ เพิ่มรายได้ บริหารจัดการต้นทุนทางการเงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อสร้างผลกำไรโดยเร็ว ทั้งนี้ นอกจากโครงการทั้ง 4 ที่มีผู้ถือหุ้นสอบถามมาดังกล่าว บริษัทฯ ขอเรียนเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ มีการลงทุนและดำเนินการในโครงการอื่น ๆ ที่ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องอีกหลากหลายโครงการ โดยขอเรียนยกตัวอย่างที่เห็นเป็นประจักษ์ คือ โครงการ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ซึ่งขอเรียนท่านผู้ถือหุ้นว่า ในส่วนของโครงการที่พักอาศัย (Dusit Residences และ Dusit Parkside) มียอดขายปัจจุบันอยู่ที่ 87.9% เป็นมูลค่าประมาณ 15,850 ล้านบาท และบริษัทมีแผนงานที่พยายามจะเริ่มทยอยรับรู้รายได้ในส่วนของ โครงการที่พักอาศัย ตั้งแต่ปลายปี 2568 และจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพี่อทำให้สามารถรับรู้รายได้อย่างมีนัยสำคัญในปี 2569 ซึ่งบริษัทฯ มีความตั้งใจจะนำเงินที่ได้รับมาจากการโอนอาคารที่พักอาศัย มาชำระคืนหนี้สินให้กับสถาบันการเงินเพื่อลดภาระดอกเบี้ย

ดังนั้น บริษัทฯ ขอให้ความมั่นใจแก่ท่านผู้ถือหุ้นว่า ถึงแม้บริษัทฯ จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และสภาวะความผันผวนของปัจจัยที่หลากหลาย ทั้งยังอยู่ในช่วงของการลงทุนโครงการสำคัญ บริษัทฯ ก็ยังสามารถประคับประคองให้การดำเนินงานมีการฟื้นตัวจากผลกระทบภายนอกต่าง ๆ และมีการเติบโตของรายได้รวมในปี 2567 ที่ผ่านมาสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 11,204 ล้านบาท เติบโตขึ้น 4,794 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และในทิศทางเดียวกัน EBITDA ก็มีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ จาก 862 ล้านบาท เป็น 1,650 ล้านบาท ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 มีค่าเท่ากับ 4.09 เท่า (แต่หากพิจารณาเฉพาะหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยและไม่รวมหนี้สินตามสัญญาเช่า TFRS 16 ต่อส่วนของผู้ถือหุ้นรวม ค่าจะเท่ากับ 1.09 เท่า ซี่งเป็นไปตามเงื่อนไขในสัญญาเงินกู้กับสถาบันการเงิน)

นอกจากนี้ บริษัทฯ ขอเรียนให้ทราบว่า ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้รับการประเมินการกำกับดูแลกิจการ ในระดับ “ดีเลิศ” จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (Thai IOD) ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงความโปร่งใสและธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการของคณะกรรมการและผู้บริหารได้เป็นอย่างดี

ในด้านความเชื่อมั่นของศักยภาพและความน่าเชื่อถือของบริษัทฯ นั้น ไม่ว่าบริษัทฯ จะเผชิญความยากลำบากและความท้าทายอย่างไร บริษัทฯ ก็ยังคงรักษาการจัดอันดับเครดิตองค์กรอยู่ในระดับ Investment Grade และปรับเพิ่มแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นคงที่ (Stable) ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมาจากสถาบันจัดอันดับชั้นนำ

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีการสื่อสารและให้ข้อมูลการดำเนินงานและแนวโน้มธุรกิจของบริษัทฯ อย่างสม่ำเสมอ ผ่านการประชุม Analyst Meeting (นักวิเคราะห์ นักลงทุน และธนาคาร) และเข้าร่วมงาน Opportunity Day ที่จัดโดยตลาดหลักทรัพย์ฯ (นักลงทุนรายย่อย และผู้ถือหุ้น) Company Visit และ Conference Call โดยฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์เป็นศูนย์กลางในการให้ข้อมูล ชี้แจง ตอบข้อซักถาม รวมถึงรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จนบริษัทฯ ได้รับรางวัลบริษัทจดทะเบียนด้านนักลงทุนสัมพันธ์ดีเด่นประจำปี 2563 รางวัลบริษัทจดทะเบียนด้านนักลงทุนสัมพันธ์ยอดเยี่ยมประจำปี 2566 จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ท่านผู้ถือหุ้นสามารถที่จะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของบริษัทฯ เพื่อจะได้ให้คำแนะนำหรือส่งคำถามมา ได้ตลอดเวลา โดยไม่จำเป็นต้องรอจนถึงวันประชุมผู้ถือหุ้นเท่านั้น เพื่อบริษัทฯ จะได้น้อมรับคำแนะนำหรือมีโอกาสชี้แจงประเด็นความห่วงใยได้โดยทันที

บริษัทฯ ขอขอบพระคุณท่านผู้ถือหุ้นเป็นอย่างสูงสำหรับทุกคำถามที่เป็นประโยชน์ ซึ่งเปิดโอกาสให้บริษัทฯ ได้ชี้แจงและสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ดังที่ได้เรียนแจ้งไว้แล้วว่า ท่านสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทุกเมื่อ โดยมิต้องรอถึงกำหนดการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นแต่เพียงอย่างเดียว

ท้ายที่สุดนี้ บริษัทฯ ขอยืนยันความมุ่งมั่นของคณะกรรมการในการบริหารงานด้วยความตั้งใจ เพื่อนำพาบริษัทฯ ไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย กลยุทธ์ต่าง ๆ ของบริษัทฯ ได้รับการพิจารณาและกลั่นกรองอย่างรอบคอบ เพื่อให้ฝ่ายบริหารสามารถนำไปปฏิบัติและพัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน อันจะนำมาซึ่งผลประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ถือหุ้นทุกราย

ขอแสดงความนับถือ

(นายชนินทธ์ โทณวณิก)

กรรมการผู้มีอำนาจ

(นางศุภจี สุธรรมพันธุ์)

กรรมการผู้มีอำนาจ