ข่าวประชาสัมพันธ์

กลุ่มดุสิตธานี จับมือ ศิลปากร สร้างมิติใหม่แห่งความร่วมมือในการอนุรักษ์เอกลักษณ์ของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ

 “บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน)” จับมือกับ “มหาวิทยาลัยศิลปากร” ประกาศความร่วมมือในโครงการ บันทึกการเปลี่ยนผ่านหน้าประวัติศาสตร์ของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ (Preserving Dusit Thani Bangkok’s Artistic Heritage) ซึ่งเป็นโรงแรมห้าดาวของคนไทยที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว และกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญ (Landmark) ของกรุงเทพมหานครที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก โดยความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่สถาบันการศึกษาภาครัฐและองค์กรธุรกิจเอกชนร่วมมือกันในการศึกษา วิจัย อนุรักษ์ และเก็บบันทึกเรื่องราวความโดดเด่นในทุกมิติของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ลงในสื่อผสมหลากหลายทั้งงานภาพจิตรกรรม หนังสั้น และบันทึกลงในมัลติมีเดียแอพลิเคชั่น เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา

ในงานแถลงข่าวเปิดตัวความร่วมมือในโครงการบันทึกการเปลี่ยนผ่านหน้าประวัติศาสตร์ของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ “Preserving Dusit Thani Bangkok’s Artistic Heritage” ซึ่งจัดขึ้นที่ห้องนภาลัย โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ เมื่อวันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน 2561 ชนินทธ์ โทณวณิก รองประธานกรรมการและประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เผยถึงจุดเริ่มต้นอันนำมาสู่ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศิลปากรว่า “ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย คุณแม่ของผมสร้างโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ เพราะเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเติบโตเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในเวทีระดับโลก ซึ่งท่านคิดว่า การสนับสนุนที่ดีที่สุดคือ การสร้างโรงแรมที่โดดเด่นและดีที่สุดตามมาตรฐานสากล โดยยึดขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมไทยเป็นหลัก เพื่อให้กรุงเทพมหานครปรากฏอยู่บนแผนที่ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ได้สร้างความประทับใจให้กับแขกที่มาเยือนทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ทั้งในเรื่องของการบริการและการดูแล รวมถึงการเป็นอาคารอันเป็นสัญลักษณ์แห่งยุคสมัย ด้วยสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น มีอัตลักษณ์ในแบบเฉพาะตัว ดังนั้น เมื่อจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง ผมจึงต้องการที่จะเก็บรักษาส่วนต่าง ๆ ของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ที่มีคุณค่าทางจิตใจและทางประวัติศาสตร์ไว้ให้ได้มากที่สุดสำหรับคนรุ่นหลังได้ศึกษา เพราะผมเชื่อว่า อดีตคือแรงบันดาลใจสู่อนาคตที่ยั่งยืน”

รองศาสตราจารย์สยุมพร กาษรสุวรรณ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่าโครงการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยศิลปากรและกลุ่มดุสิตธานี ในครั้งนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดี เนื่องจากเป็นครั้งแรกของความร่วมมือกันระหว่างภาคเอกชน และมหาวิทยาลัยภาครัฐที่จับมือกันวิจัย ศึกษา อนุรักษ์ และบันทึกมรดกทางประวัติศาสตร์ศิลปะและสถาปัตยกรรม ผ่านโครงสร้างอาคารและการออกแบบตกแต่งของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวอันน่าประทับใจในแบบครบวงจร

“สาหรับบทบาทของมหาวิทยาลัยศิลปากรในโครงการนี้เน้นที่การนำความรู้ความชำนาญของเหล่าคณาจารย์จากภาควิชาต่าง ๆ ทั้งคณะโบราณคดี คณะสถาปัตยกรรม คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และความร่วมมือของคณะวิชาต่าง ๆ มาบูรณาการร่วมกันในการเก็บบันทึกข้อมูลในแง่มุมต่าง ๆ เพื่อให้ได้ครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะเรื่องราวของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ เหมือนเป็นแหล่งเรียนรู้ชั้นยอดสาหรับผู้ที่สนใจในการพัฒนาการทางด้านศิลปะวัฒนธรรม และสถาปัตยกรรมของไทย และที่สำคัญคือเรารู้สึกยินดีมากที่ทางดุสิตธานีเห็นถึงคุณค่าของงานเหล่านี้และมีความประสงค์ที่จะอนุรักษ์ไว้ให้ได้มากที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความพยายาม งบประมาณ และเวลาไม่น้อยแต่ดุสิตธานีก็ยังยืนยันที่จะทำ”

โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ นั้นถือเป็นต้นแบบของอาคารสถาปัตยกรรมไทยโมเดิร์นยุคแรก ๆ ที่ได้รับการพูดถึงในการเรียนการสอนของนักศึกษาสถาปัตย์ ซึ่งเป็นการผสมผสานความทันสมัยแบบตะวันตก เข้ากับศิลปะสถาปัตยกรรมของไทย ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากยอดพระปรางค์วัดอรุณฯ ซึ่งเป็นการคิดแบบนอกกรอบในการออกแบบสถาปัตยกรรมในยุคนั้น นอกจากนั้นยังได้เห็นการพัฒนาการและความก้าวหน้าของจิตรกรรมฝาผนังของไทย ซึ่งปรากฏอยู่บนผลงานของท่านกูฏ ปรมาจารย์ด้านจิตรกรรมไทยร่วมสมัย ที่ได้นำสีสันใหม่ ๆ มาใส่ในงานจิตรกรรมไทยในห้องอาหารเบญจรงค์ ซึ่งตรงกับแนวคิดของดุสิตธานี ที่ต้องการสะท้อนความเป็นไทยแบบร่วมสมัย รวมถึงการจัดภูมิสถาปัตย์ การออกแบบสวนต่าง ๆ ที่เหมือนเป็นโอเอซิสใจกลางเมือง และเต็มไปด้วยพันธุ์ไม้น้อยใหญ่ที่แวดล้อมอาณาบริเวณโรงแรม ซึ่งสร้างบรรยากาศ ความสงบเงียบ และเป็นแหล่งผลิตโอโซนขนาดย่อม ๆ ให้แก่ย่านสีลม

ผู้ช่วยศาสตรจารย์ชวลิต ขาวเขียว คณบดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เผยรายละเอียดของโครงการเพิ่มเติมว่า “โครงการนี้ประกอบด้วย สามส่วนหลัก ๆ คือ ส่วนแรกคือ งานอนุรักษ์ ซึ่งครอบคลุมการอนุรักษ์งานเครื่องไม้สักทองแกะลวดลายบนฝ้าเพดาน และงานจิตรกรรมภาพวาดบนเสาและฝาผนังในห้องอาหารเบญจรงค์ รวมถึงเปลือกอาคารด้านนอก ซึ่งต้องใช้การบูรณาการของทุกองค์ความรู้ ทั้งด้านจิตรกรรม วิศวกรรม สถาปัตยกรรม และโบราณคดีในการอนุรักษ์ผลงานอันทรงคุณค่านี้ ส่วนที่สอง คือการศึกษา วิจัย ประวัติศาสตร์ศิลปะ ประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรมและพืชพรรณ เพื่อถอดแบบองค์ประกอบสถาปัตยกรรมและทำโมเดลจำลองของโรงแรมดุสิตธานี ส่วนที่สามคือการจัดกิจกรรมเผยแพร่คุณค่าของดุสิตธานีผ่านฝีแปรงจากศิลปินแห่งชาติ และศิลปินชั้นนำของไทยจานวน 20 ท่าน เพื่อจัดแสดงนิทรรศการให้ชมกันเป็นครั้งแรกในโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ตั้งแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นไป ซึ่งกระบวนการทำงานวิจัยและอนุรักษ์ทุกขั้นตอน จะมีการรวบรวบข้อมูลและจัดทำเป็นหนังสือดิจิทัล เพื่อเผยแพร่ความรู้ให้เป็นสาธารณประโยชน์ต่อไป”

ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เสริมตอนท้ายว่ารู้สึกเป็นเกียรติมากที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเก่าแก่และมีความโดดเด่นในด้านศิลปะและวัฒนธรรมของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องการกับอนุรักษ์และเผยแพร่มรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมทุกแขนง ให้ความสนใจร่วมมือกับเราในการเก็บบันทึกเรื่องราวของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ในช่วงเปลี่ยนผ่านให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา และอนุรักษ์ความทรงจำที่เปี่ยมความหมายให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งในอีก 4 ปีข้างหน้าเมื่อโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ แห่งใหม่เปิดให้บริการ

“จุดเด่นของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ โฉมใหม่ จะเป็นการหลอมรวมระหว่างการเป็นโรงแรมที่มีรากฐานที่แข็งแกร่ง มีประวัติศาสตร์และมีชื่อเสียงมาอย่างยาวนาน เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และความต้องการของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ยังคงบุคลิกความเป็นไทยร่วมสมัยในแบบดุสิตธานี โดยเรามีความตั้งใจที่จะนำชิ้นงานศิลปะสำคัญ ๆ และองค์ประกอบดั้งเดิมบางส่วนของดุสิตธานี กรุงเทพฯ อาทิ งานไม้สักทองแกะบนฝ้าเพดาน เสาเพ้นท์ลายไทยและภาพจิตรกรรมที่ห้องอาหารเบญจรงค์ ต้นไม้ เฟอร์นิเจอร์ หรือแม้กระทั่งงานตกแต่งเปลือกอาคาร เป็นต้น ไปอยู่ในโรงแรมแห่งใหม่ด้วยเพื่อให้แขกใหม่ ๆ และลูกค้าประจำที่ผูกพันกับโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ รู้สึกอบอุ่นคุ้นเคยเหมือนเดิมเมื่อย่างเท้าเข้ามาในโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ แห่งใหม่”